บล็อกเชน (Blockchain)

bc1

ในปัจจุบันนั้นเทคโนโลยีของการเงินการธนาคาร (Fintech หรือ Financial technology) นั้นได้มีการพัฒนาและมีการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราจะเห็นได้จากปริมาณของการทำธุรกรรมการเงินออน์ไลน์ ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด จนธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มที่จะมีการปรับตัว ของการทำธุรกรรมในรูปแบบใหม่ๆ ในการให้บริการทางการเงินบนโลกออนไลน์ เพื่อให้มีความรวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ในปัจจุบันนั้น เราจะได้ยินคำว่าบล็อกเชน (Blockchain) กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยธนาคารและบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก็ได้เตรียมพร้อมและกระโดดเข้าสู่การใช้งานบล็อกเชนกันมากขึ้น ตัวอย่างอย่างเช่น ธนาคารชั้นนำของประเทศสวิสเซอร์แลนด์อย่าง UBS หรือแม้กระทั่งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง IBM เอง ที่เริ่มออกผลิตภัณฑ์ด้านการให้บริการบล็อกเชนออกมาสำหรับในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรม แต่ก่อนอื่นเราควรไปทำความเข้าใจกันก่อนว่าบล็อกเชนนั้นคืออะไร แล้วทำไมธนาคารและบริษัทต่างๆ ถึงให้ความสนใจกันมากนัก

 

บล็อกเชนคืออะไร?

bc2

บล็อกเชน คือ โครงสร้างของการจัดเก็บข้อมูลที่อยู่ในรูปแบบของบล็อกข้อมูลที่ต่อเชื่อมกัน โดยในแต่ละบล็อกข้อมูลนั้นจะแสดงถึงประวัติหรือบันทึก (ledger) ของการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินดิจิตอล (cryptocurrency) ที่เปรียบได้กับสมุดบัญชีดิจิตอล ซึ่งในแต่ละบันทึกของการทำธุรกรรมที่เชื่อมโยงกันเหล่านั้นจะถูกเซ็นกำกับไว้ด้วยลายเซ็นดิจิตอล (digital signature) เพื่อให้ทราบว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ถูกต้อง ครบถ้วนและไม่ได้ถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง ทำให้สมุดบัญชีดิจิตอลและข้อมูลของการทำธุรกรรมเหล่านั้นมีความถูกต้องของข้อมูลสูงนั่นเอง

ซึ่งข้อดีของการเก็บบันทึกของการทำธุรกรรมดิจิตอล (digital ledger) ไว้ในรูปแบบของบล็อกเชนนั้นก็คือ ข้อมูลของการทำธุรกรรมในแต่ละครั้งนั้นจะถูกจัดเก็บและทำสำเนากระจายออกไป (distributed) บนระบบและเครือข่ายของผู้ให้บริการบล็อกเชนทั้งหมด

 

ชนิดของบล็อกเชน

bc3

บล็อกเชนสาธารณะ (Public Blockchain/Permissionless Ledger)
บล็อกเชนสาธารณะ คือ บล็อกเชนแบบที่อนุญาตให้ใครๆ ก็ได้ สามารถที่จะร่วมบันทึกข้อมูลประวัติของการทำธุรกรรมดิจิตอลลงไปได้ โดยผู้เข้าร่วมในบล็อกเชนแบบนี้จะทำการจัดเก็บสำเนาบัญชีประวัติของการทำธุรกรรม (ledger) ทั้งหมดเอาไว้ด้วย โดยจะเห็นได้ว่าบล็อกเชนแบบนี้นั้นจะไม่มีใครเพียงคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของบัญชีประวัติของการทำธุรกรรมเลย ซึ่งจะทำให้เหมาะกับการใช้งานแบบที่ต้องการป้องกันการถูกเซ็นเซอร์ หรือ censorship resistance อย่างเช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นต้น

บล็อกเชนส่วนตัว (Private Blockchain/Permissioned Ledger)
บล็อกเชนส่วนตัว คือ บล็อกเชนแบบที่อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตหรือผู้ที่เชื่อถือได้เท่านั้น ที่จะสามารถทำการจัดเก็บสำเนาบัญชีประวัติของการทำธุรกรรมได้ ซึ่งเครือข่ายของบล็อกเชนแบบนี้มักจะมีเจ้าของที่แท้จริงอยู่ ทำให้มันเหมาะที่จะใช้งานกับระบบที่ต้องการความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ต้องการความรวดเร็วและความโปรงใส อย่างเช่น ธนาคาร เป็นต้น

 

ทำไมบล็อกเชนถึงเป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยี?

bc4

เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นสามารถใช้งานได้ในกับเกือบทุกๆ การทำธุรกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับจำนวน ไม่ว่าจะเป็นการเงิน สินค้า หรือแม้กระทั้งทรัพย์สินต่างๆ ทำให้มันแทบจะไม่มีข้อจำกัดในการนำไปใช้งานเลย อีกทั้งบล็อกเชนนั้นยังช่วยในการลดการเกิดการฉ้อโกง เนื่องจากบันทึกประวัติของการทำธุรกรรมที่ถูกเก็บในบล็อกเชนนั้นได้ถูกทำการจัดเก็บในรูปแบบกระจาย (distributed) ออกไปยังผู้ให้บริการบล็อกเชนสาธารณะ ซึ่งสามารถให้ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงและตรวจสอบดูได้

 

ใครใช้งานบล็อกเชน?

bc5

ในทางทฤษฎีแล้ว ถ้าบล็อกเชนได้ถูกนำไปใช้งานอย่างจริงจัง ใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถที่จะทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชนได้ แต่ในปัจจุบันนั้นบล็อกเชนยังถือได้ว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำไปใช้งาน โดยจำนวนของธุรกรรมที่ใช้งานบล็อกเชนนั้นยังมีปริมาณค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ GDP โลก ซึ่งยังมีปริมาณแค่เพียงประมาณ 0.025% หรือประมาณสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง (ข้อมูลจาก World Economic Forum’s Global Agency Council)

อย่างไรก็ตาม จากผลงานวิจัยของ World Economic Forum นั้น ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้งานบล็อกเชนนั้นจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดภายในทศวรรษนี้ เนื่องจากธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทเงินทุน บริษัทประกัน และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำต่างๆ นั้น ได้เห็นถึงคุณประโยชน์และความสำคัญของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้งานเพื่อลดเวลาในการทำธุรกรรมและการปรับยอดของการชำระหนี้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกด้วย โดยตัวอย่างของบริษัทที่กำลังแข่งขันกันนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้งานนั้น ก็มีอย่างเช่น ธนาคาร UBS, ธนาคารกลางแคนาดา, บริษัท Microsoft, บริษัท IBM, บริษัท Google และบริษัท PwC เป็นต้น ซึ่งจากผลการสำรวจจากบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีการเงิน Aite นั้นก็แสดงให้เห็นว่าธนาคารชั้นนำต่างๆ ได้ใช้เงินเฉลี่ยประมาณ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปกับเทคโนโลยีบล็อกเชน และบริษัทต่างๆ ในซิลิคอนวัลเลย์ ก็กำลังเร่งพัฒนาและนำเทคโนโลยีบล็อกเชนออกมาใช้งานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

ความปลอดภัยและความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีบล็อกเชน

bc6

มีผู้เชียวชาญทางด้านเทคโนโลยีหลายๆ ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นจะช่วยแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศให้กับวงการการเงินการธนาคารได้ เหตุผลก็มาจากการที่บล็อกเชนนั้นเป็นระบบโครงสร้างการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจาย (distributed) นั่นเอง โดยที่ผู้ที่เข้าร่วมบล็อกเชนนั้นจะเก็บและทำสำเนาของข้อมูลการทำธุรกรรมเอาไว้ด้วย และข้อมูลนั้นจะปรับเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อมีเสียงเป็นเอกฉันท์จากผู้เข้าร่วมบล็อกเชนอื่นๆ

อย่างที่ทราบกันดีว่าโครงสร้างของบล็อกเชนนั้นมีรูปแบบในการจัดเก็บอยู่ในรูปของบล็อกข้อมูล และในแต่ละบล็อกข้อมูลนั้นก็มีจะลายเซ็นดิจิตอลของบล็อกก่อนหน้าเซ็นกำกับเอาไว้ด้วย ทำให้ข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในแต่ละบล็อกนั้นมีความถูกต้องสมบูรณ์ (integrity) และไม่สามารถถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้บล็อกเชนนั้นมีความปลอดภัยที่สูงมาก ซึ่งในปัจจุบันบันนั้นยังไม่มีใครที่จะสามารถขโมยหรือทำสำเนาทรัพย์สินดิจิตอลที่ใช้ระบบบล็อกเชนอย่างเช่น บิทคอยน์ หากไม่มีรหัสส่วนตัวหรือกุญแจส่วนตัวที่ใช้ในการถอดรหัสสำหรับการป้องกันทรัพย์สินดิจิตอลเหล่านั้นได้

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกๆ ที่มีการใช้งานบิทคอยน์นั้น บิทคอยน์เองไม่ได้ทำงานอยู่บนบล็อกเชน ทำให้เกิดการฉ้อโกงและขโมยทรัพย์สินดิจิตอลกันได้ ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดการพัฒนาความปลอดภัยของการใช้งานบิทคอยน์ขึ้น จนกระทั่งมีการนำบิทคอยน์ไปใช้งานอยู่บนบล็อกเชนเพื่อเพิ่มความปลอดภัย

จากที่เห็นว่าบล็อกเชนมีความปลอดภัยขนาดนี้แล้ว แล้วอะไรล่ะที่จะสามารถทำให้บล็อกเชนถูกโจมตีได้? ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถถูกโจมตีได้ หากผู้ใช้งานไม่ระมัดระวังในการใช้งานและจัดเก็บกุญแจส่วนตัวที่ใช้ในการถอดรหัสสำหรับการป้องกันทรัพย์สินดิจิตอล หรือแม้กระทั้งการจดรหัสผ่านในการเข้าถึงกุญแจส่วนตัวไว้บนกระดาษโน๊ต กุญแจส่วนตัวนั้นก็อาจจะถูกขโมยไปได้โดยง่าย และเมื่อกุญแจส่วนตัวถูกขโมยไปแล้วนั้น ไม่ว่าบล็อกเชนจะมีความปลอดภัยมากเพียงใด มันก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว เพราะผู้โจมตีจะสามารถเข้าถึงทรัพย์สินดิจิตอลโดยการใช้กุญแจส่วนตัวที่ขโมยมาได้อย่างง่ายดาย